ความพร้อมของผู้เรียน
ความพร้อมของผู้เรียนถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในการเรียนการสอน เนื่องจากมันอาจจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้การเรียนการสอนเกิดขึ้นได้โดยง่ายและมีประสิทธิภาพ ถ้าผู้เรียนมีความพร้อมสูง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้เรียนไม่ค่อยมีความพร้อมการเรียนการสอนก็จะเกิดขึ้นได้ลำบากขึ้น ยิ่งผู้เรียนมีความพร้อมน้อยมาก การเรียนการสอนก็ยิ่งเกิดขึ้นได้ลำบากมากเช่นกัน ในเมื่อความพร้อมมีอิทธิฤทธิ์ต่อการเรียนการสอนมากเช่นนี้ ผู้ประกอบอาชีพครูจึงจำเป็นต้องรู้จักและเข้าใจธรรมชาติในเรื่องนี้เพื่อที่จะได้สามารถใช้ความพร้อมของผู้เรียนให้เป็นปัจจัยเสริมการเรียนการสอนของครู หรือเรียกว่าเป็นการสร้างโอกาสให้การสอนของตนเองประสบความสำเร็จมากขึ้น แต่ถ้าครูไม่เข้าใจและไม่สามารถใช้ความพร้อมของผู้เรียนให้เป็นประโยชน์ต่อการสอนของตนเองได้แล้ว แทนที่ความพร้อมจะช่วยให้โอกาสแก่ครู มันก็จะก่อให้เกิดวิกฤติแก่ครูขึ้นมาแทน
ความพร้อมในการเรียน หมายถึง สภาวะทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญาของ ผู้เรียนที่เอื้อให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ดี ความพร้อมเกิดขึ้นได้สองทาง คือ ทางที่หนึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ อันเนื่องจากพัฒนาการทางจิตวิทยาของบุคคล และทางที่สองคือเกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวของบุคคลนั้น อันเนื่องมากจากการกระทำของตนเองหรือสภาวะแวดล้อม เพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นจะขออธิบายง่าย ๆ ดังนี้
- ความพร้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ความพร้อมชนิดนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการทางจิตวิทยา กล่าวคือ เมื่ออายุมากขึ้น คนก็จะมีสภาวะเปลี่ยนแปลงไปทำให้เอื้อต่อการเรียนรู้มากขึ้น เช่นเด็กทารกที่อายุไม่เกินสองขวบ ยังพูดไม่ค่อยได้หรือพูดจาไม่ชัดเจน ย่อมไม่สามารถอ่านหนังสือได้ เพียงแต่จะเริ่มจดจำได้ว่า สิ่งใดเรียกว่าอะไร หรือเด็กวัยรุ่นอายุ 17-18 ปี ที่ต่อมเพศทำงานเป็นปกติแล้ว ย่อมมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษามากกว่าเด็กอายุ 10-11 ปี เช่นนี้เป็นต้น
- ความพร้อมที่เปลี่ยนแปลงไปชั่วขณะ หมายถึงสภาวะทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา ของบุคคลที่ไม่เป็นปกติ อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เป็นไปตามสภาวะทางจิตวิทยาอันเป็นธรรมชาติ เช่น บุคคลที่อดนอนมาเกือบตลอดคืน ย่อมไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ในวันรุ่งขึ้น บุคคลที่ทะเลาะหรือขัดใจกับคนรักอย่างรุนแรงก็ย่อมไม่มีจิตใจที่จะเรียนรู้ทางวิชาการได้ เช่นนี้เป็นต้น ความพร้อมในลักษณะนี้จึงเกิดขึ้นใหม่ได้ หรือถูกทำลายไปได้อยู่ตลอดเวลา
เพราะมันจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเกิดไปเรื่อย ๆ ความพร้อมพวกนี้ก็จำแนกได้เป็นความพร้อมด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญาหรือความคิด ซึ่งจะได้กล่าวถึงทีละด้าน ดังต่อไปนี้
- ความพร้อมทางด้านร่างกาย ซึ่งหมายถึงความพร้อมอันเกิดจากความเป็นปกติทางร่างกาย เช่น ไม่อดนอน ไม่หิวโหย ไม่เจ็บป่วย ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป เป็นต้น ความพร้อมของนิสิตนักศึกษา ด้านนี้ส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในความดูและของตัวนิสิตนักศึกษาเอง หรือไม่ก็ผู้ปกครอง หรือหอพักนิสิต- นักศึกษา หรืออาจจะเป็นผู้บริหารที่จัดสภาพห้องพัก ห้องเรียนไม่เหมาะสม หรือจัดให้มีอาหารขายไม่เพียงพอกับความต้องการ เหล่านี้เป็นต้น ส่วนครู อาจารย์ผู้สอนจะมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มาก นอกเสียจากว่าอาจารย์จะคิดแปลก ๆ เช่น นัดสอนเวลา 23:00 น. ซึ่งนิสิตนักศึกษา ควรจะถึงเวลานอนแล้ว หรือสอนตั้งแต่ 10:00 น. ไปจนถึง 01:00 น. ไม่ยอมพักให้รับประทานอาหารกลางวัน หรือจับไปนั่งเรียนกันกลางสนามที่มีแดดจ้าและลมแรง เช่นนี้เป็นต้น
- ความพร้อมทางด้านจิตใจและด้านอารมณ์ เรื่องนี้ครู อาจารย์มีความเกี่ยวข้องมากขึ้น แต่อีกส่วนหนึ่งก็เป็นความรับผิดชอบของนิสิตนักศึกษาอยู่เหมือนเดิม ส่วนที่เกิดมากจากนิสิตนักศึกษาเอง เช่น อารมณ์แปรปรวนเนื่องจากความแปรปรวนของต่อมไร้ท่อภายในตนเอง อารมณ์เศร้าหมองรันทดเช่น การผิดหวังในความรัก อารมณ์ฟุ้งซ่านผิดปกติเพราะมีความรักมากผิดปกติ อารมณ์ซึมเศร้าเพราะทะเลาะกับเพื่อน ๆ ลักษณะเหล่านี้แม้อาจารย์จะไม่ได้เป็นผู้ก่อให้เกิด แต่ก็ไม่ควรจะคิดหรือพูดว่า “ฉันไม่เกี่ยว” ทั้งนี้ ก็เพราะว่าอาจารย์สามารถช่วยได้ คิดเสียว่าถึงอย่างไร ๆ เขาก็เป็นลูกศิษย์และเป็นเด็กผู้มีประสบการณ์น้อยกว่าอาจารย์ นอกเสียจากว่าอาจารย์เองก็ยังมีความเป็นเด็กอยู่พอ ๆ กับลูกศิษย์ ก็คงจะช่วยอะไรกันได้ไม่มากนัก แต่ที่ร้ายที่สุดก็คืออาจารย์พวกหนึ่งที่นอกจากจะไม่ช่วยลูกศิษย์ในเรื่องนี้แล้ว ยังกลับทำลายความพร้อมทางด้านจิตใจและด้านอารมณ์ของผู้เรียนเสียเอง วิธีทำลายก็ไม่ลำบากอะไรเลย เช่น การดุด่าว่ากล่าวจนเกินความจำเป็น การแสดงความไม่ศรัทธาในผู้เรียน การดูแคลน (ไม่ถึงกับดูถูกเหยียดหยาม) ผู้เรียน หรือถ้าจะกล่าวง่าย ๆ ก็คือการไม่มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน มันก็เลย ไม่เกิด Teacher friendly ผู้เรียนก็จะขาดความกระตือรือร้นและความสนใจในการเรียนไป
- ความพร้อมทางด้านสติปัญญา หมายถึงการมีพื้นฐานทางวิชาการเพียงพอที่จะเรียนรู้หรือรับรู้สิ่งใหม่ ๆ ทางวิชาการได้ เช่น มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาทางแคลคูลัสเสียก่อนที่จะเรียนรู้การออกแบบทางวิศวกรรมศาสตร์ มีความรู้ทางชีววิทยาและเคมีเพียงพอเสียก่อนที่จะเกิดการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอาหาร เรียนรู้วิธีคิด วิธีค้นคว้า และได้ฝึกทักษะการคิด การค้นคว้า ก่อนที่เรียนรู้แบบแก้ปัญหา (Problem solving method) เหล่านี้เป็นต้น เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ทราบว่าจะถือเป็นความผิดของใคร หากจะถามนิสิตนักศึกษาเองว่าทำไมเธอจึงเรียนเรื่องนี้ไม่รู้เรื่อง เขาก็คงจะตอบในใจเพราะ ไม่กล้าพูดว่า “ก็เพราะอาจารย์สอนไม่รู้เรื่อง” ฟังดูค่อนข้างเห็นแก่ตัวและไม่ค่อยฉลาดนัก แต่ถ้าเราจะไปถามอาจารย์บ้างว่า ทำไมลูกศิษย์คุณเขาจึงสอบตกกันมากนัก ครูก็คงจะมีคำตอบมากมาย เช่น พื้นฐานไม่มี ไม่ตั้งใจเรียน ขี้เกียจ เป็นต้น คำตอบเหล่านี้มีนัยซ่อนเร้นอยู่โดยไม่ต้องพูดว่า “ตัวอาจารย์สอนดีแล้วไม่มีอะไรบกพร่องจริง ๆ นะ” ซึ่งถ้าเราจะให้ความเป็นธรรมแก่อาจารย์ผู้สอนเราอาจจะพบว่าเขาสอนดีแล้วจริง ๆ ก็ได้ เพียงแต่ถ้านิสิตนักศึกษามีความพร้อมทางด้านสติปัญญา หรือความพร้อมทางวิชาการเสียหน่อย เขาก็จะเกิดการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้เองในบางมหาวิทยาลัยเขาจึงมีการทดสอบนิสิตนักศึกษาเพื่อจำแนกความรู้เดิมที่เรียกวันว่า Placement Test ทั้งนี้ จะได้จัดกลุ่มผู้เรียนให้เหมาะสมตามความรู้เดิมของผู้เรียน เพื่อที่อาจารย์ผู้สอนจะได้เข้าใจความพร้อมทางสติปัญญาหรือความพร้อมทางวิชาการของ ผู้เรียนนั่นเอง อาจารย์หลายท่านพยายามช่วยนิสิตนักศึกษาในเรื่องนี้ โดยการมอบหมายงานให้ไปอ่านตำราหรือเอกสารมาก่อนแล้วจึงค่อยมาฟังการบรรยาย หรือทำการอภิปรายกันในโอกาสต่อไป หรือก่อนที่จะเริ่มต้นสอนเนื้อหาใหม่ก็ทำการทบทวนเนื้อหาหรือมโนทัศน์ (Concept) ของเนื้อหาเดิมเสียก่อน เพื่อช่วยให้นิสิตนักศึกษาสามารถปะติดปะต่อเนื้อหาและความคิดได้ อาจารย์อีกหลาย ๆ ท่านก็จัดลำดับเนื้อหาอย่างเป็นระบบจากง่าย ๆ ไปสู่ยาก ๆ จาก simple ไปสู่ complex วิธีการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า อาจารย์เหล่านี้ได้คิดถึงและช่วยให้ผู้เรียนเกิดความพร้อมทางวิชาการหรือสติปัญญาแล้ว
อาจารย์บางท่านขัดใจมาก ๆ ถึงกับกล่าวว่าสอน ๆ ไปแล้วก็เหมือนสีซอให้ควายฟัง คือมันไม่ยอมรู้เรื่อง แต่ถ้าจะคิดดูให้ดี ๆ แล้ว อาจารย์ควรพิจารณาเสียก่อนว่าคนที่ท่านกำลังจะสีซอให้ฟังนั้นมันเป็นคนหรือมันเป็นควาย อาจารย์ก็จะไม่ต้องอารมณ์เสียเช่นนี้ ปัญหาก็คือคนสอนก็แยกไม่ค่อยออกว่าคนเรียนเป็นคนหรือควายกันแน่ ไปทึกทักว่าเขาเป็นคน อุตส่าห์นั่งสีซอให้ฟังทั้ง ๆ ที่เขาเป็นควาย ก็ไม่ควรจะไปตำหนิควายมันเลย ลองหันมาให้ความสำคัญต่อเรื่องความพร้อมของผู้เรียนกันดูเถอะครับ แล้วลองช่วยกันสร้างความพร้อมให้แก่ผู้เรียนเสียก่อนแล้วเราจะพบว่าการสอนไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดเลย พวกครูที่โรงเรียนดี ๆ เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มเก่งแทบจะไม่ต้องสอนอะไรมากนักเลย ทั้งนี้ ก็เพราะนักเรียนมีความพร้อมในการเรียนมากอยู่แล้ว ส่วนครูในโรงเรียนเล็ก ๆ ที่มีนักเรียนไม่ค่อยพร้อมด้วยเหตุต่าง ๆ จะพบกับความยากลำบากในการสอนเป็นอย่างมาก เพราะความพร้อมในตัวผู้เรียนเป็นอุปสรรคในการสอน
ความพร้อมสำหรับครู
เป้าหมายของการรับประทานอาหารของคนเราก็คือความรู้สึกอิ่ม หากได้รับประทานอิ่มคนเราก็จะสบายใจหรือมีความสุข ส่วนเป้าหมายในการป้อนอาหารเด็กทารกก็คล้าย ๆ กัน นั่นคือทำให้เด็กทารกรู้สึกอิ่ม แต่ความยากความง่ายของกิจกรรมรับประทานด้วยตนเองกับการป้อนเด็กทารกนั้นแตกต่างอยู่พอสมควร กล่าวคือ การรับประทานอาหารด้วยตนเองเราย่อมรู้ตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าเราอิ่มแล้วหรือยัง แต่การป้อนเด็กทารกนั้นเราต้องคาดการณ์หรือประเมินเอาว่าเขาอิ่มแล้วหรือยัง
หากเราจะเปรียบเทียบเป้าหมายของการรับประทานอาหารด้วยตนเอง และการป้อนอาหารเด็กทารกกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการสอนให้ผู้อื่นเกิดการเรียนรู้ จะเห็นว่ามีความคล้ายคลึงกันอยู่ ไม่น้อยเลย นั่นก็คือถ้าเราพยายามจะเรียนรู้สิ่งใดด้วยตนเองเราก็จะรู้ตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าเราเกิดการเรียนรู้แล้วหรือยัง แต่ถ้าเราสอนเพื่อให้ผู้อื่นเกิดการเรียนรู้เราจะต้องคาดการณ์ หรือประเมินว่าเขาเกิดการเรียนรู้แล้วหรือยัง ความแตกต่างอีกประการหนึ่งระหว่างการเรียนรู้ด้วยตนเองกับการสอนให้ผู้อื่นเกิดการเรียนรู้ก็คือ เรารู้ตัวเราดีว่าเราควรจะทำอย่างไร เราชอบอะไร เราเข้าใจหรือไม่เข้าใจอะไร มันก็เลยทำให้การเรียนรู้ด้วยตนเองไม่ค่อยยากนัก (ถ้าเราอยากจะเรียนรู้) แต่ในการสอนผู้อื่นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้นั้น เราไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับคนที่เราสอนมากนัก เช่น ไม่รู้ว่าเขามีความพร้อมในการเรียนมากน้อยเพียงใด ไม่รู้ว่าเขาอยากเรียนรู้หรือไม่ ไม่รู้ว่าเขาอยากเรียนรู้อะไร ไม่รู้ว่าทำอย่างไรเขาจึงจะเกิดการเรียนรู้ และไม่รู้ว่าเขาเกิดการเรียนรู้บ้างแล้วหรือยัง
ถ้าเราหวังผลในการสอนว่าเขาจะต้องเกิดการเรียนรู้จากการสอนของเรา เราก็ต้องรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้เหล่านี้ให้ได้มากที่สุด แต่ถ้าเราไม่รู้ในสิ่งที่เราควรรู้มากเท่าไร เรายังหวังผลการสอนของเราได้น้อยเท่านั้น
สิ่งที่คนเป็นครูควรจะต้องรู้เป็นเรื่องแรก ก็คือ หลักการสำคัญของการเรียนรู้นั่นเอง ซึ่งหลักการนั้นมีอยู่ 4 ประการดังต่อไปนี้
1. ผู้เรียนควรจะมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างจริงจัง (Active Participation) หมายความว่า เมื่อครูสอนนักเรียนก็จะต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมการสอนของครูทั้งกายและใจ นักเรียนที่นั่งเหม่อลอยหรือนั่งหลับในขณะที่ครูสอนถือว่าไม่มีส่วนร่วมมากนัก นักเรียนที่ไม่ยอมคิดเมื่อครูถามคำถามก็ถือว่า ไม่มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน นักเรียนที่ลอกการบ้านเพื่อนแทนที่จะทำเอง ถือว่ามีส่วนร่วมเหมือนกันแต่ไม่เข้าขั้น active นักเรียนที่เข้าห้องปฏิบัติการแต่ไม่ยอมทำอะไรเองคอยอาศัยแต่เพื่อน ก็ถือว่าไม่มีส่วนร่วมอย่างจริงจังเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เองผู้หลักผู้ใหญ่สมัยก่อนเขาจึงสอนเด็ก ๆ ว่า “จะต้องเป็นคนเอาตาดู เอาหูฟัง และเอาใจใส่” กับเรื่องรอบ ๆ ตัว จึงจะเฉลียวฉลาดทันคน
เพราะฉะนั้นคำถามสำหรับคนเป็นครูในหลักการข้อนี้ ก็คือ
- ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนเข้าเรียนโดยเอาตาดู เอาหูฟัง และเอาใจใส่
- ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนเข้าห้องปฏิบัติการและลงมือทำการทดลองด้วยตนเอง
- ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนคิดเมื่อครูถามคำถาม
- ทำอย่างไรจึงจะทำให้นักเรียนทำการบ้านด้วยตนเอง
ฯลฯ
ครูจำนวนไม่น้อยที่ชอบคิดว่าพฤติกรรมการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังนี้เป็นหน้าที่ของผู้เรียนโดยตรง เพราะครูมีหน้าที่สอนเท่านั้น เข้าทำนองที่ว่า “นี่คือเรื่องของเธอ” “เรื่องของฉันคือสอน เรื่องของเธอคือเรียน” แท้ที่จริงแล้ว ส่วนหนึ่งของการสอนก็คือการทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังนั่นเอง
2. ผู้เรียนควรจะได้เรียนรู้ทีละขั้นทีละตอนจากง่ายไปสู่ยากและจากไม่ซับซ้อนไปสู่รูปที่ซับซ้อน (Gradual approximation) ตัวอย่างเช่น เด็ก ๆ ต้องบวกลบเลขเป็นเสียก่อนจึงจะสามารถเรียนรู้การคูณและการหาร คนเราต้องพูดเป็นคำ ๆ ได้เสียก่อนจึงจะสามารถพูดเป็นประโยคได้ หรือต้องเดินให้ได้เสียก่อน แล้วจึงวิ่งค่อยเหยาะ ๆ จากนั้นจึงวิ่งเร็ว ๆ เช่นนี้เป็นต้น ครูที่หวังจะสอนนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้จึงต้อง รู้จักแบ่งเนื้อหา และจัดลำดับเนื้อหาตามความยากง่าย แล้วจึงนำมาสอนทีละขั้นทีละตอนอย่างเหมาะสม
ขอให้สังเกตภาพต่อไปนี้

ทั้งสามภาพนี้คือบันไดที่สร้างความรู้สึกแตกต่างกันให้แก่ผู้ที่จะต้องปีน
ภาพที่ 1 เป็นบันไดที่ผู้ปีนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายมากเพราะปีนตั้งนานก็ไม่ไปถึงไหน
ภาพที่ 2 เป็นบันไดที่ผู้ปีนเกิดความรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงมาก เพราะมันยากมากที่จะปีน ขึ้นไปได้ภาพที่ 3 เป็นบันไดที่ผู้ปีนสบายใจ เพราะอยู่ในวิสัยที่ทำได้ จึงเกิดความมั่นใจที่จะปีน
การจัดลำดับความยากง่ายของเนื้อหาก็ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมในทำนองนี้เช่นกัน
3. หลักการที่สามคือ ให้นักเรียนได้รับข้อมูลย้อนกลับที่เหมาะสมและไม่เนิ่นนานจนเกินไป (Immediate feedback) เมื่อนักเรียนได้ทำกิจกรรมตามคำแนะนำหรือคำสั่งของครูไป แล้วเขาก็มักอยากจะ รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้าเขาได้รับข้อมูลย้อนกลับทันการและเหมาะสมเขาก็จะเกิดการเรียนรู้ ที่ดีรวมทั้งเกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ต่อไป แต่ถ้าเขาไม่ได้รับข้อมูลย้อนกลับหรือต้องคอยเป็นเวลานานจึงจะได้รับเขาจะเกิดการเรียนรู้น้อย และในขณะเดียวกันความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ก็จะมีไม่มาก เพราะฉะนั้นครูจึงควรตระหนักในสิ่งต่อไปนี้
เมื่อเด็กตอบคำถามเขาจะต้องได้รับการบอกกล่าวว่าคำตอบของเขานั้นถูกหรือผิดประการใด
- เมื่อเด็กการบ้านมาส่ง ครูต้องตรวจ และให้คำแนะนำให้เร็วที่สุด เท่าที่จะเร็วได้
- เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมในการเรียนรู้ภาคปฏิบัติทักษะ ครูต้องคอยดูและคอยบอกว่าเขาปฏิบัติได้ถูกต้องแล้วหรือยัง
และสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งที่การให้ข้อมูลย้อนกลับก็คือนอกจากจะต้องไม่ปล่อยให้เนิ่นนานเกินไปแล้ว ครูต้องบอกเขาด้วยว่าสิ่งที่เขาทำนั้น “ถูกต้องอย่างไร” และ “ยังไม่ถูกต้องอย่างไร” ไม่ใช่เพียงแต่บอกว่าถูกหรือผิดเท่านั้น นอกจากนั้น วิธีบอกหรือ Approach ของครูก็ควรจะไม่ทำลายความรู้สึกดี ๆ ของเด็กด้วย เช่น การที่จะบอกว่าคำตอบของเด็กไม่ถูกต้อง อาจจะมีได้หลายวิธี เช่น
- พูดด้วยหน้าตาบึ้งตึง น้ำเสียงกราดเกรี้ยวว่า “ผิดใช้ไม่ได้”
- พูดด้วยหน้าตาราบเรียบ เฉยเมยว่า “ผิด”
- เขียนด้วยเครื่องหมายกากบาทขนาดมหึมาด้วยปากกาสีแดง
- ไม่เขียนเครื่องหมายผิดแต่เขียนคำอธิบายว่ามันยังไม่ถูกต้องอย่างไรด้วยปากกาหมึกแดงหรือสะท้อนแสง
- พูดยิ้ม ๆ ด้วยน้ำเสียงแฝงความเมตตาว่า “เกือบใช้ได้แล้ว เพียงแต่เธอลืมหรือสะเพร่าไปนิดเดียวเอง คราวหน้าต้องรอบคอบหน่อยนะ”
ฯลฯ
ครูที่ปรารถนาจะให้กำลังใจเด็กเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ก็สามารถเลือกวิธีการให้เหมาะกับอุปนิสัยของเด็กได้ โปรดอย่าลืมว่า
- การให้ข้อมูลย้อนกลับเชิงบวก ดีที่สุด
- การให้ข้อมูลย้อนกลับเชิงลบ ไม่ค่อยดีนักในแง่จิตวิทยาแต่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้
- การไม่ให้ข้อมูลย้อนกลับใด ๆ แย่ที่สุด เพราะไม่ช่วยอะไรผู้เรียนเลย
4. หลักการข้อที่สี่ การเสริมแรงหรือให้กำลังใจที่เหมาะสม (Appropriate Reinforcement)
ผู้เรียนทุกคนไม่ว่าอายุมากหรืออายุน้อย ไม่ว่าหญิงหรือชาย ล้วนต้องการกำลังใจหรือการเสริมแรงเพื่อให้ฟันฝ่าอุปสรรค แสวงหาความรู้ต่อไป ซึ่งการให้กำลังใจของครูอาจจะกระทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น
- เมื่อเด็กพยายามจะเล่าถึงความสำเร็จในการเรียนรู้ของเราเองให้ครูฟัง ครูก็ควรต้องมีเวลาฟัง
- เมื่อเด็กมีคำถามและนำมาปรึกษา ครูก็ให้คำปรึกษาด้วยความเต็มใจ
- เมื่อเด็กทำงานถูกต้องตามที่ควรจะเป็น ครูก็ชมเชย
- เมื่อเด็กมีผลงานอยู่ในระดับดีมาก สามารถเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นได้ ครูก็ยกย่องให้ปรากฏ
- เมื่อเด็กมีผลงานที่ถูกต้อง แม้ไม่สมบูรณ์แบบ ครูก็ชมเชยในส่วนที่ถูกและชี้แนะในสิ่งที่ผิด
ฯลฯ
การเสริมแรงหรือการให้กำลังใจที่ดีจะต้องมีความพอเหมาะพอสมกับผลงาน คือ ไม่ชมเชยจนเกินความเป็นจริง เพราะจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ แต่ก็ต้องไม่น้อยจนเกินไป เช่น สำหรับเด็ก นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่มีผลการเรียนเฉลี่ย 3.39 อาจารย์ที่ปรึกษาก็น่าจะพูดชมเชยด้วย เพราะการยิ้ม ๆ อย่างเดียวก็น่าจะน้อยเกินไป แต่สำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาอาจจะไม่ต้องพูดชมเชยด้วยก็ได้เพราะเขาโตแล้ว
หลักการที่สำคัญในการเรียนรู้ทั้งสี่ประการที่ได้กล่าวมานี้เป็นหลักการเรียนรู้ทั่วไป ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนรู้ได้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ไม่เลือกเพศ ไม่เลือกวัย จะนำไปใช้กับเด็กเล็ก ๆ 4-5 ขวบ หรือจะนำไปใช้กับนักศึกษาปริญญาเอกอายุ 30-40 ปี ก็ย่อมได้เสมอ หลักการนี้เป็นหลักการที่มีการใช้มาและประสบความสำเร็จตั้งแต่สมัยพุทธกาล จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นหากท่านจะทดลองนำไปใช้ดูบ้าง ก็น่าจะประสบผลสำเร็จได้โดยง่ายเช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น